วัดท่าซุง ที่มีชื่อนี้ก็เพราะว่า สมัยที่การล่องซุงทางน้ำ แพซุงมักจะพักแวะที่หน้าวัดนี้ แต่เดิมวัดนี้ชื่อว่า วัดจันทาราม
ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสชื่อ จันทร์ ที่มีความสำคัญคือ หลวงปู่ใหญ่, หลวงปู่เล่ง, หลวงพ่อไล้ และ หลวงปู่ขนมจีน
สำหรับหลวงปู่ใหญ่ และหลวงปู่ขนมจีน พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ได้สร้างรูปเหมือน และสร้างมณฑปไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สักการบูชา
เดิมก่อนที่หลวงพ่อจะมาอยู่ วัดท่าซุงทรุดโทรมมาก พระครูสังฆรักษ์อรุณ อรุโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง จึงได้นิมนต์หลวงพ่อมาจากวัดสะพาน จ.ชัยนาท เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อมาช่วยบูรณะปฏิสังขรวัด
วัดท่าซุง แต่เดิมมีเนื้อที่ประมาณ ๖ไร่เศษ ปี ๒๕๑๗ คณะศิษย์และลูกหลานของหลวงพ่อได้ร่วมกันซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามวัดเก่า
เพื่อสร้างโบสถ์แทนโบสถ์เก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ต่อมาก็มีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวายวัดมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้วัดมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕๑๐ ไร่
โดยแยกเป็นเนื้อที่วัด ๒๘๐ ไร่ เนื้อที่ป่า ๒๓๐ ไร่ มีสิ่งปลูกสร้าง และถาวรวัตถุมากมาย อาทิ ห้องปฏิบัติพระกรรมฐาน ศาลา ๒ ไร่ ศาลา ๓ ไร่ศาลา ๑ ไร่ ศาลา
๑๒ ไร่ มหาวิหาร ๑๐๐ เมตร วิหารสมเด็จองค์ปฐม
ส่วนวิหารสมเด็จพระศรีอรียเมตไตรย์ สิ่งก่อสร้างที่เลื่องลือกันมากที่สุดคือ ศาลา ๑๒ ไร่ และมหาวิหาร ๑๐๐ เมตร
สมเด็จองค์ปฐม หน้าตัก ๔ ศอก เป็นพระหล่อด้วยโลหะผสมทองคำ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มณฑปทั้งหมดบุแก้วทั้งข้างนอกข้างในสวยงามมาก มหาวิหาร ๑๐๐ เมตร
เป็นตึก ๒ ชั้น หลังคาเป็นจตุรมุข ๓ ยอด ด้านนอกด้านใน ปิดกระจกจากชั้น ๒ ถึงยอดหลังคา ภายในปิดกระจกเสาทุกต้น ข้างฝาและเพดานทั้งวิหาร
หลวงพ่อให้ประดับด้วยกระจกเงาใสสะท้อนสวยงามมาก ดูเด่นเป็นสง่า ไม่ว่าจะมองใกล้หรือไกล ตัวตึกสร้างสูงยกพื้น ๑.๕ เมตร มีขนาดกว้าง ๒๘ เมตร ยาว ๑๐๐ เมตร สูง
๘ เมตร
ภายในวิหารมีพระประธานแบบทรงพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นอกจากนั้นยังมีรูปปั้นพระอรหันต์ ๗ องค์ เช่น พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร อยู่หน้าพระพุทธชินราช ฯลฯ
มีรูปหล่อหลวงพ่อลักษณะยืนถือไม้เท้า เพดานวิหารมีช่อไฟระย้า ทั้งช่อใหญ่และช่อเล็ก รวมทั้งหมด ๑๑๙ ช่อ สวยงามมาก
และมีบุษบกตั้งศพหลวงพ่อก็ตั้งอยู่ในมหาวิหารนี้ด้วย
พระวิสุทธิเทพ เป็นพระองค์สำคัญของวัดท่าซุง ซึ่งหลวงพ่อจำลองของจริงบนพระนิพพาน ชั้นดาวดึงส ์ประดับด้านในพระจุฬามณีเจดียสถาน พระจุฬามณี
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดท่าซุง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียน พระสุธรรมยานเถระวิทยา และอยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์พระเจ้าพรหมมหาราช
พระวิสุทธิเทพจำลองพร้อมวิหาร "พระจุฬามณี" ในโลกนี้มีอยู่แห่งเดียวที่วัดท่าซุง ซึ่งหลวงพ่อได้สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๓ จะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้วัดท่าซุงอย่างมากคือ การเป่ายันต์เกราะเพชร ซึ่งเป็นการอาราธนาบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใช้บทพระพุทธคุณจุดกลางยันต์ เมื่อเข้าไปรักษาคนจะอยู่ที่กระหม่อม แล้วจะวนรอบทั่วร่างกาย ใช้ป้องกัน และแก้โรคไสยศาสตร์ได้
สำหรับยันต์เกราะเพชร เป็นยันต์ยอดธงมหาพิชัยสงคราม สมัยสุโขทัย
นอกจากเสนาสนะที่มีการก่อสร้างไว้มากมาย วัดท่าซุงยังมีการก่อสร้างห้องสุขาเอาไว้รองรับประชาชนที่มาวัด นับเป็นพันคนต่อวัน โดยมีทั้งหมด ๔๐๐ ห้อง
สาเหตุที่ต้องสร้างห้องสุขาเอาไว้มากมายแบบนี้ หลวงพ่อบอกว่า ประชาชนที่มาวัดก็มีความทุกข์อยู่แล้ว การที่มาวัดห้องสุขาก็เป็นสถานที่ปลดทุกข์ได้อีกทางหนึ่ง
จึงจะเห็นได้ว่าห้องสุขา ห้องน้ำเป็นสิ่งสำคัญว่าต้องสะอาด
คำสอนของหลวงปู่ฤาษีลิงดำระบุว่า "จงอย่าสนใจจริยาของบุคคลอื่น และการเจริญสมาธิจงอย่าทำเพื่อโอ้อวด การเจริญสมาธิที่จะทำให้ดีได้
ให้ถือใจความพระพุทธเจ้าว่า ใครเขาจะมีกินมาก ใครเขาจะมีกินน้อย ใครเขาอ้วนมาก ใครเขาอ้วนน้อย ใครเขามีสาวกมาก ใครเขามีสาวกน้อย คนนั้นมีสมบัติมาก
คนนั้นมีสมบัติน้อย คนนั้นเจริญสมาธิ วิปัสสนาญาณ แล้วยังแต่งตัวสวย ยังผัดหน้า ยังทาแป้ง ใครเขาจะดีจะชั่วอย่างไร เป็นเรื่องของเขา จงอย่าไปสนใจ
เราจะนั่งสมาธิก็จงอย่านั่งให้บุคคลอื่นเห็น ถ้าหากไปทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ยังมีกิเลสอีกมาก"
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2548
|