ความหมายของอานุภาพแห่ง "พระพุทธมนต์" (บทสวดสิบสองตำนาน) VIDEO - MP3
(Update 3 เมษายน 2559)
เสียงสวดพระพุทธมนต์ "พระปริตร" ป้องกัน ผี อันตราย โรคภัยต่างๆ
แบบ A | แบบ B (กดปุ่มที่ Playlist เพื่อเลือกฟัง) |
บทสวดมนต์ "ต้นแบบล้านนา" เมืองเหนือ (เจ็ดตำนาน-สิบสองตำนาน)
อานุภาพแห่งพระพุทธมนต์ (MP3)
และความเป็นมาของการสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนาน
01. นะโม - สัมพุทเธ >>
02. นะมะการะสิทธิคาถา >>
03. นะโมการะอัฏฐะกะ >>
04. มังคะละสุตตัง >>
05. ระตะนะสุตตัง >>
06. กะระณียะเมตตะสุตตัง >>
07. ขันธะปะริตตะคาถา >>
08. ฉัททันตะปะริตตัง >>
09. โมระปะริตตัง >>
10. วัฏฏะกะปะริตตัง >>
11. ธะชัคคะปะริตตัง >>
12. อาฏานาฏิยะปะริตตัง >>
13. อังคุลิมาละปะริตตัง >>
14. โพชฌังคะปะริตตัง >>
15. อะภะยะปะริตตัง >>
16. เทวะตาอุยโยชะนะคาถา >>
17. ชะยะปะริตตัง >>
18. มงคลจักรวาฬใหญ่ >>
19. ปะริตตานุภาวะคาถา >>
20. ระตะนัตตะยัปปะภาวาภิยา >>
21. สุขาภิยาจะนะคาถา >>
ดาวน์โหลดเสียงสวดมนต์บทสวดสิบสองตำนาน รวม 21 บท จาก suadmonnetwork.com
ดาวน์โหลด...คลิ๊กขวาเลือก Save Target As
โดยทั่วไปพุทธศาสนิกชนมักทำบุญโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสาธยายบท "พระพุทธมนต์" ในพิธีมงคล หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความสุขความเจริญ
เป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิตในวาระต่างๆ ซึ่งมักจะเรียกรวมกันว่า พิธีเจริญพระพุทธมนต์
คำว่า พระพุทธมนต์ หมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏในพระไตรปิฏกบ้าง
เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า พระปริตร
คำว่าปริตร มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี ๗ บท
จึงเรียกว่า เจ็ดตำนาน
(ตามปกติ คำว่าตำนาน จะหมายถึงเรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆ มา แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทๆ หนึ่งว่า "ตำนาน"
ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่า ตาณ ในภาษาบาลีที่แปลว่า ต้านทานหรือป้องกันเช่นเดียวกับคำว่า ปริตร
หรืออาจจะหมายถึงตำนานอันเป็นที่มาของแต่ละพระสูตรก็เป็นได้)
การสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนานนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราวพ.ศ. ๕๐๐ ด้วยว่าชาวลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น
ประสงค์ให้พระสงฆ์ช่วยเหลือตนให้เกิดสิริมงคลและป้องกันภยันตรายต่างๆ ด้วยการสวดมนต์ และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์
ซึ่งมีความเชื่อว่าผู้ทรงเวทจะทำให้เกิดสิริมงคล และป้องกันภยันตรายแก่มหาชนได้
ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ลังกาจึงได้คิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น โดยเลือกเอาพระสูตรหรือคาถาที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่างๆมาสวดเป็นมนต์ โดยการสวดครั้งแรกๆ ก็ขึ้นกับเหตุการณ์ที่ไปสวด เช่น ไปสวดพิธีมงคลก็ใช้ "มงคลสูตร" สวด
สวดให้คนเจ็บป่วยก็ใช้ "โพชฌงคสูตร"
ครั้นคนนิยมมากขึ้นก็คิดค้นพระสูตรต่างๆ มาสวดเป็นพระปริตรมากขึ้นเป็นลำดับ
ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินประเทศลังกาก็ได้รับสั่งให้คณะสงฆ์ปรับปรุงพระสูตรและคาถาที่ใช้สวดพระปริตรขึ้นใหม่ให้เหมาะกับเหตุการณ์
เพื่อใช้ในพระราชพิธีหลวงโดยได้เพิ่มพระสูตรและคาถาให้มากขึ้น และเรียกว่า ราชปริตร แปลว่า มนต์คุ้มครองพระเจ้าแผ่นดิน
ต่อมาประชาชนต่างก็นิยมให้มีการสวดพระปริตรในพิธีของตนบ้าง จึงเกิดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน
เจ็ดตำนานหรือพระปริตร ซึ่งหมายถึง มนต์อันเป็นเครื่องป้องกันภยันตรายต่างๆ มีอยู่ด้วยกัน ๗ พระสูตรคือ
๑.มงคลสูตร ว่าด้วยเหตุที่จะทำให้เกิดสิริมงคล
๒.รัตนสูตร ว่าด้วยรัตนทั้ง ๓ คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ สวดเพื่อปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดไป
๓.กรณีย เมตตสูตร ว่าด้วยการเจริญเมตตา ไปไหนมาไหนให้คน เทวดารักใคร่เมตตา
๔.ขันธปริตร ว่าด้วยพระพุทธมนต์สำหรับป้องกันสัตว์ร้ายพวกอสรพิษ
๕.ธชัคคสูตร ว่าด้วยการเคารพธงและการรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยทำให้หายหวาดกลัว
๖.อาฏานาฏิยปริตร ว่าด้วยพระพุทธมนต์ที่สามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง
๗.อังคุลิมาลปริตร ว่าด้วยมนต์ขององคุลีมาล ใช้ในงานมงคลหรือทำให้คลอดลูกง่าย
สำหรับความเป็นมาของพระสูตรแต่ละเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช) กระทรวงวัฒนธรรมได้สรุปส่วนหนึ่งจากหนังสือวรรณคดีขนบประเพณีฯ
ของอาจารย์เบญจมาศ พลอินทร์ ความว่า
"มงคลสูตร
เกิดจากชาวชมพูทวีปต่างถกเถียงและตกลงกันไม่ได้ว่ามงคลคืออะไร จึงพากันไปทูลถามพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ให้คำตอบว่าสิ่งอันเป็นมงคลในชีวิตมี ๓๘
ประการหรือที่ชาวพุทธรู้จักในนาม มงคล ๓๘ นั่นเอง เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต วาจาเป็นสุภาษิต ฯลฯ ซึ่งธรรมอันเป็นมงคลนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดาปฏิบัติก็ล้วนเป็นสิริมงคลแก่ตัวทั้งสิ้น
รัตนสูตร
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกภัยฝนแล้งข้าวยากหมากแพง คนล้มตายเพราะความอดอยาก ประชาชนก็ไปร้องต่อพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ประชาชนตรวจสอบพระองค์ว่าผิดธรรมข้อใดหรือเปล่า จึงเกิดเหตุเช่นนี้ ก็ปรากฏว่าไม่ผิดธรรมข้อใด
จึงพากันไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเมืองไพสาลี เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงก็ปรากฏว่ามีฝนตกมาห่าใหญ่
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสเรียกพระอานนท์ให้มาเรียน "รัตนสูตร" อันมีเนื้อความสรรเสริญแก้ววิเศษ ๓ ประการที่ไม่มีแก้วอื่นใดเสมอเหมือนคือพุทธรัตนะ
ธัมมรัตนะ และสังฆรัตนะ และทำให้ผู้สวด ผู้ฟัง ผู้บูชาและผู้ระลึกถึงประสบแต่ความสวัสดี ซึ่งเมื่อพระอานนท์เรียนจากพระพุทธองค์
ก็นำบาตรน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้าไปประพรมทั่วนครไพสาลี เมื่อน้ำพระพุทธมนต์ไปถูกพวกปีศาจๆ ก็หนีไป ไปถูกมนุษย์ที่เจ็บป่วย โรคเหล่านั้นก็หายสิ้น
แต่นั้นมาชาวเมืองก็มีความสงบสุขตลอดมา
กรณีย เมตตสูตร (เมตตัญจะ)
เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ได้เรียนกัมมัฏฐานแล้วคิดจะหาสถานที่สงบบำเพ็ญธรรม เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง
ชาวบ้านเห็นก็เลื่อมใสยินดีนิมนต์ให้อยู่ปฏิบัติธรรมพร้อมทั้งสร้างกุฏิให้ ปรากฏว่าทำให้เทวดาที่อยู่ละแวกนั้นเดือนร้อน ไม่มีที่อยู่
จึงได้แสดงอาการน่ากลัวต่างๆมาหลอกพระภิกษุ เมื่อพระภิกษุเห็นก็เกิดความหวาดกลัว ไม่อาจทำจิตใจให้เป็นสมาธิได้ จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระองค์จึงได้สอนกรณีย เมตตสูตร
อันมีเนื้อความว่าขอให้บุคคลเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยนไม่หยิ่งยะโส มีสันโดษ ไม่ประกอบกรรมที่ผู้รู้ติเตียน อย่าดูหมิ่นหรือหาทุกข์ให้กัน
ฯลฯ เมื่อพระภิกษุกลับไปและนำไปสวดสาธยาย เหล่าเทวดาก็เกิดความเมตตาแก่พระภิกษุ มิได้สำแดงอาการอย่างใดอีก ทำให้พระภิกษุบำเพ็ญธรรมได้เต็มที่
พระสูตรบทนี้ถือเป็นบทแนะนำวิธีสร้างเมตตามหานิยม สร้างเสน่ห์แก่ตนเอง
ขันธปริตร (วิรูฬปักเข)
เกิดจากพระภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดที่เท้า ทนพิษไม่ไหวถึงแก่มรณภาพ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง
จึงตรัสสอนให้พระภิกษุรู้จักแผ่เมตตาแก่สกุลพญางูทั้งสี่ คือ พญางูวิรูปักข์ พญางูเอราบถ พญางูฉัพยาบุตร และพญางูกัณหาโคตมะ ซึ่งมีเนื้อความว่า
ไมตรีของเราจงมีแก่สกุลพญางูทั้งสี่ ตลอดทั้งสัตว์สองเท้า สี่เท้า อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ทั้งหลาย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้น
มีประมาณไม่มากเหมือนคุณพระรัตนตรัย เราทำการนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ขอสัตว์ร้ายจงหลีกไป
ในทางความเชื่อพระพุทธมนต์บทนี้ใช้ภาวนาป้องกันอสรพิษทุกชนิดได้ แต่กล่าวกันว่า ในงานพิธีทั่วไปไม่นิยมขึ้นต้นที่
วิรูปักเขเพราะเชื่อว่าเป็นบทปลุกผีให้ออกมาอาละวาด พระมักจะขึ้นที่ อัปปะมาโณ
ธชัคคสูตร
มาจากที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระภิกษุฟังว่า เมื่อเทวดากับอสูรรบกัน ท้าวสักกะซึ่งเป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ได้แนะให้เหล่าเทวดาที่เกิดความกลัว
หวาดสะดุ้ง หรือขนพองสยองเกล้า ได้แลดูชายธงของเทวราชทั้งหลาย เพื่อให้คลายจากความกลัว แต่พระพุทธองค์กล่าวว่าการดูธงของเหล่าเทวราช
อาจจะทำให้หายหรือไม่หายกลัวก็ได้ เพราะเหล่าเทวดายังไม่ละกิเลส อย่างไรก็ยังต้องมีความหวาดกลัวอยู่
ดังนั้น จึงสอนให้พระภิกษุเชื่อและยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแห่งจิตใจ จะทำให้คลายจากความกลัว และรู้สึกปลอดภัยไม่หวั่นไหว
บทนี้มักจะใช้สวดในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าธงไชยเฉลิมพล
อาฏานาฏิยปริตร
เกิดเมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสวัณ ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
แต่เกรงว่าหากพวกอสูรรู้ว่าบนดาวดึงส์ไม่มีใครอยู่ ก็อาจถือโอกาสมากวน ซึ่งพวกตนก็อาจกลับมาไม่ทัน จึงได้จัดตั้งกองทหารไว้ ๔ กองประกอบด้วยคนธรรพ์ ยักษ์
นาครักษาแต่ละทิศไว้ แล้วพากันไปประชุมที่อาฏานาฏิยนคร แล้วผูกมนต์เป็นอาฏานาฏิยปริตรขึ้น จากนั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมบริวารเป็นจำนวนมาก
แต่ปรากฏว่าบริวารของท้าวมหาราชเหล่านี้ ต่างก็มีปฏิกิริยาต่อพระพุทธองค์ต่างๆกัน เพราะบ้างก็นับถือ บ้างก็ไม่เชื่อถือ
จนเป็นเหตุให้บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปบำเพ็ญธรรมตามที่ต่างๆ ต้องถูกผี ปีศาจ ยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสเหล่านี้รบกวน จนเจ็บไข้ได้ป่วย
หรือเป็นอันตรายต่างๆนานา ท้าวเวสสวัณจึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์รับอาฏานาฏิยปริตรไว้ประทานแก่สาวกของพระองค์ เพื่อป้องกันมิให้ยักษ์
และภูตผีปีศาจรบกวน
ซึ่งเนื้อความเป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ว่าเวลานอน เดิน นั่งหรือยืน
ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้คุ้มครองรักษาให้พ้นภัย พ้นโรค และความเดือดร้อนต่างๆ ปริตรบทนี้ใครเจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ เชื่อว่ายักษ์ ผี
ปีศาจก็จะช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ
อังคุลิมาลปริตร
มี ๒ ปริตรรวมกันคือ อังคุลิมาลปริตร และโพชฌงคปริตร โดยได้เล่าเรื่องของ องคุลีมาล ซึ่งเดิมเป็นบุตรปุโรหิตนามว่า
"อหิงสกกุมาร" ไปร่ำเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ด้วยความเก่งและปัญญาดี เลยเป็นที่อิจฉาริษยาของศิษย์อื่น แล้วก็ไปยุยงอาจารย์จนหลงเชื่อ
จะหาทางกำจัดอหิงสกะ โดยหลอกให้ไปฆ่าคนมาพันคน แล้วจะบอกวิชาให้ อหิงสกะอยากได้วิชาก็ทำตามอาจารย์แนะ เที่ยวไล่ฆ่าคนไปทั่ว
ฆ่าเสร็จก็ตัดนิ้วมาร้อยห้อยเป็นพวงมาลัย จนเป็นที่หวั่นกลัวของมหาชน และถูกขนานนามใหม่ว่า องคุลิมาล อันหมายถึงโจรที่ตัดนิ้วนั่นเอง
องคุลิมาลฆ่าคนไปได้ถึง ๙๙๙ คน ขาดอีกหนึ่งเดียว วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบและหยั่งรู้ด้วยญาณว่าโจรนี้ยังมีทางจะโปรดได้
ก็เลยเสด็จบิณฑบาตผ่านหน้าองคุลิมาลๆเห็นก็ดีใจคิดว่าคราวนี้ได้นิ้วครบพันแล้ว แต่ปรากฏว่าเดินตามพระพุทธเจ้าเท่าไรก็ไม่ทัน
ในที่สุดพระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนและองคุลิมาลก็ได้บวชเป็นสาวก แต่เนื่องจากฆ่าคนไว้มาก พอไปบิณฑบาตที่ไหนคนก็วิ่งหนีหวาดกลัว
ทำให้องคุลิมาลไม่ได้ข้าวแม้ทัพพีเดียว
วันหนึ่งมีหญิงท้องแก่ใกล้คลอดเห็นองคุลิมาล ก็วิ่งหนีไปลอดรั้วด้วยความกลัว แต่ลอดไม่ได้ ทำให้ต่อมาเกิดความลำบากในการคลอดลูก
บรรดาญาติจึงต่างปรึกษากันและเห็นว่าองคุลิมาลคงไม่ฆ่าใครแล้ว และเป็นสาเหตุให้หญิงนี้คลอดยาก จึงนิมนต์พระองคุลิมาลมาเล่าสาเหตุให้ฟัง
ท่านฟังแล้วก็ตั้งสัตย์อธิษฐาน ความว่า
ตนเองเกิดมาไม่เคยคิดฆ่าสัตว์โดยเจตนา ด้วยความสัตย์นี้ขอให้ความสวัสดิ์จงมีแก่ครรภ์หญิงนั้น ก็ปรากฏว่าทำให้นางคลอดลูกได้โดยสะดวก
พระปริตรบทนี้ถือว่าสวดแล้วจะมีความสวัสดีและคลอดลูกง่าย นิยมสวดในพิธีมงคลสมรสด้วย
โพชฌงคปริตร
คำว่า "โพชฌงค์" แปลว่า ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นพระสูตรที่สวดร่วมกับ "องคุลิมาลปริตร" ที่สั้นเกินไป ทำให้ฟังดูไม่มีน้ำหนัก จึงได้เพิ่ม
"โพชฌงคปริตร" ซึ่งมีคุณคล้ายกันในด้านแก้เจ็บไข้ได้ป่วยมาสวดต่อให้ยาวขึ้น
โดยมีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้ง พระมหากัสสป อาพาธหนักได้รับทุกขเวนาอย่างแสนสาหัส พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปตรัสเทศนาโพชฌงค์ ๗ คือ สติ
ความระลึกได้ ธรรมวิจัย คือการวิจัยข้อธรรม วิริยะคือ ความเพียร ปีติ คือ ความเอิบอิ่มในธรรม ปัสสัทธิ คือ ความระงับ สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นและอุเบกขาคือ
ความวางเฉย พร้อมทั้งแสดงอานิสสงค์แห่งการเจริญโพชฌงค์ พระมหากัสสปเมื่อได้ฟังก็เพลิดเพลินในธรรมหายอาพาธ
ต่อมาพระโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ก็เสด็จไปแสดงโพชฌงคปริตร พระโมคคัลลานะก็หายอาพาธเช่นเดียวกับพระมหากัสสป และแม้แต่พระพุทธองค์เองเมื่อทรงประชวร
ก็ตรัสให้พระมหาจุนทะแสดงโพชฌงค์ ๗ พระองค์ก็หายประชวรเช่นกัน พระสูตรนี้จึงถือว่าเป็นมนต์ต่ออายุ ใช้สวดต่ออายุคนเจ็บ
"ราชปริตร" หรือ "เจ็ดตำนาน" อันเป็นพระพุทธมนต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้
หลายคนอาจจะคิดว่าแค่สวดมนต์ทำไมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์หรืออานุภาพที่เป็นพลังให้ความคุ้มครอง ป้องกัน หรือช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งอวมงคล รวมถึงภยันตรายต่างๆ
ออกไปได้ และยังก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย
ซึ่งเรื่องนี้ หากเราจะได้พิจารณาเนื้อความจากบทสวดแต่ละบทแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นการสรรเสริญพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เป็นการสอนให้ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต สอนให้รู้จักชนะศัตรูด้วยคุณความดีและแผ่เมตตา สอนให้ไม่ประมาท
สอนให้รู้จักเคารพนอบน้อมผู้รู้ ผู้เป็นแบบฉบับ เป็นต้น
ซึ่งแม้เราจะฟังไม่บทสวดไม่เข้าใจทั้งหมด แต่การได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงาม ก็ย่อมทำให้เรามีจิตเป็นกุศล
และยิ่งหากใครเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนดังกล่าวก็ย่อมจะพบความสุข ความเจริญ ไปไหนมาไหนก็มีคนรักใคร่เมตตามากขึ้นแน่นอน.
......................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม www.culture.go.th/study.php
หมายเหตุ : เรื่องการเจริญพระพุทธมนต์นี้ เป็นข้อวินิจฉัยที่นำมาให้อ่านกัน เพื่อเข้าใจความหมายของ
"พระปริตร" แต่ละบท ซึ่งเป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ตามที่เข้าใจว่าเราไปได้แบบเขามาจากลังกา แต่ถ้าได้ไปอ่านในหนังสือ
"พุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์" โดย พระราชกวี (วัดโสมนัสฯ) กรุงเทพ ข้อความในกะเบื้องจารบอกไว้ว่า
ชาวไทยได้ถือนิยมประเพณีนี้ และได้นิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์ มีการสวดบาลีเป็นทำนองสังโยคเป็นต้น ดังที่ได้ยินได้ฟังกันในปัจจุบันนี้
ซึ่งเป็นการวางแบบแผนในสมัย พระเจ้าตวันอธิราช กษัตริย์ครองกรุงสุวรรณภูมิ (ราชบุรี ตรงบริเวณ "เมืองคูบัว" เดิม)
ทั้งนี้มี พระโสณะ และ พระอุตตระ ผู้ที่เป็นสมณทูตสายที่ ๙ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มาประกาศพระศาสนา ณ สุวรรณภูมิ เมือประมาณ พ.ศ.
๒๓๖ เป็นต้นมา ชาวไทยก็ได้รับแบบแผนพิธีกรรมการเจริญพระพุทธมนต์มาเป็นแบบฉบับของตนเองมาตั้งแต่โบราณกาล นับเป็นระยะเวลานาน ๒ พันกว่าปีมาแล้ว
|