(Update 17/1/09)
งานพิธีฉลองยอดฉัตร ณ พระธาตุจอมกิตติ
วันที่ 10 มกราคม 2552
หลังจากที่แผ่นดินไหวไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 ปรากฏว่ายอดฉัตรได้หักสะบั้นลงมา เหมือนจะเป็นสิ่งบอกเหตุให้ลูกหลานหลวงพ่อฯ
ได้มีโอกาสทำบุญกับสิ่งที่ประเสริฐสุด นั่นก็คือได้ทำยอดฉัตรใหม่ หลังจากได้รวบรวมเงินทำบุญรอคอยกันมาทุกปี แต่ก็ยังไม่สามารถจะดำเนินการซ่อมแซมได้
ฉะนั้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินยกฉัตรไปแล้ว
โดยทางกรมศิลปากรได้นิมนต์ท่านพระครูปลัดอนันต์ไปร่วมพิธีนี้ด้วย แต่ก็ท่านก็ไม่สามารถไปได้ จึงได้มอบหมายให้ตัวแทนเดินทางไปร่วมพิธีแล้ว
ครั้นถึงวันที่ 10 มกราคม 2552 อันเป็นเวลาที่จะต้องเดินทางกันเป็นประจำทุกปี ตามประเพณีที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เคยกระทำมา
พวกเราต่างก็เดินทางกันไปทั่วทุกภาคของประเทศ มีทั้งรถตู้และรถยนต์ส่วนตัวนับร้อยคัน ส่วนรถบัสประมาณ 9 คัน จากคณะศิษย์จากสายลม โดยคุณนราธิป,
คณะคุณเพ็ญศรี (แดง) และคณะคุณวิชัย จากการไฟฟ้า ตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ว่า จะทำพิธีบวงสรวงในเวลา 09.30 น. ซึ่งในปีนี้อากาศทางภาคเหนือหนาวเย็นมาก
| |
สำหรับการจัดเตรียมสถานที่นั้น คณะพระเจ้าหน้าที่จากวัดท่าซุง จำนวน 8 รูป มี พระสมนึก, พระต้อม, พระพิษณุ, พระมงคลเวช, พระอิสเรศ, พระนิติ, พระสำออย
และฆราวาสอีกประมาณ 20 คน จะต้องเดินทางไปก่อนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 51 โดยไปประสานงานกับเจ้าอาวาสที่ดอยตุงก่อน
| |
พอถึงวันที่ 9 จึงมาประชุมกันที่พระธาตุจอมกิตติ เพื่อวางแผนการจัดสถานที่รับประทานอาหาร ละสถานที่จอดรถ โดยการร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ นรข.เชียงแสน
ช่วยนำเก้าอี้, เต้นท์, โซฟา, และเสื่อ เป็นต้น ประสานงานโดย พล.ร.ท.ณัฐพงษ์ (เดิมชื่อ พรชัย) กับ คุณอภิมุข (ตุ๊) และ "คุณตาล" ภรรยา
| |
| |
หลังจากนั้น พระเจ้าหน้าที่และฆราวาสต่างก็ช่วยกันผูกผ้าที่กำแพงด้านในรอบองค์พระเจดีย์ และบันไดทางขึ้นด้วย โดยมี อ.บุญเรือนและคุณดาวเป็นหัวหน้า
พร้อมทั้งประดับธงชาติธงธรรมจักรสลับกับผ้าตุงอย่างสวยงามยิ่งกว่าปีก่อนๆ โดยมีหลวงพี่ชัยวัฒน์ได้ให้ทุนสนับสนุน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ค่าดอกไม้และผ้าประดับไว้ทั้งสองแห่ง มีมูลค่าประมาณ 34,500 บาท
| |
ด้วยเหตุนี้ หากใครได้ไปงานพิธีฉลองยอดฉัตรในปีนี้ จะพบเห็นว่ามีการตบแต่งองค์พระธาตุและบริเวณโดยรวบอย่างสวดสดงดงามเป็นที่สุด ตามภาพจะเห็นว่า
ในวันที่ 9 คณะเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานกันตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืน ด้านหน้าองค์พระธาตุ ถ้าใครสังเกตให้ดีจะเห็นยอดฉัตร (เก่า) ที่หักโค่นลงมา
เวลานี้ทางวัดได้ใส่ตู้กระจกไว้เป็นอย่างดี
| |
ภาพนี้เป็นบรรยากาศในตอนเช้าของวันที่ 10 ม.ค. 52 ซึ่งการจัดเตรียมสถานที่ มีการปูเสื่อและตั้งโซฟาสำหรับพระสงฆ์และฆราวาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พระวัดท่าซุงต้องตื่นขึ้นมาแต่เช้า เพื่อคอยจัดรถที่ขึ้นมาตั้งแต่เช้ามืด สำหรับเจ้าหน้าที่ นรข. จำนวน 10 นาย มี ร.ท.วินัย เป็นหัวหน้า จะมาถึง 6 โมงเช้า
ช่วยจัดรถข้างล่าง และนำรถตู้คอยบริการรับส่งด้วย
ส่วนเจ้าหน้าที่จัดทำบายศรี คือ คุณป้าน้อย เชียงราย และเจ้าหน้าที่จัดเลี้ยงอาหาร มีคณะคุณอัจฉรา (ต๋อย), คณะคุณหมอเอ๋ จ.เชียงใหม่, คณะพระประกอบบุญ
จ.ลำพูน และคณะ พล.ร.ท.ณัฐพงษ์ และคุณเจี๊ยบ ก็ต้องขึ้นมาแต่เช้าเช่นกัน มีการจัดสถานที่จัดเลี้ยงอาหารตั้งแต่เช้าไปจนถึงกลางวัน และที่จอดรถเป็นสัดส่วน
มีการหมุนเวียนส่งผู้โดยสารได้สะดวกดีกว่าปีก่อนๆ
เมื่อทุกคนที่เดินขึ้นมาบนลานพระธาตุแล้ว จะต้องแหงนมองขึ้นไปแทบทุกคน เพราะส่วนใหญ่เพิ่งจะได้มาเห็นกัน และอยากจะรู้ว่ายอดฉัตรสวยงามแค่ไหน
แต่ก็มองไม่ค่อยชัด ทีมงานจึงซูมภาพมาให้เห็นกันชัดๆ หวังว่าผู้ที่เป็นเจ้าภาพทั้งหลายคงจะชื่นใจ ถึงแม้จะไม่ได้ไปร่วมพิธีฉลองด้วย
แต่ทุกท่านก็ได้บุญเต็มเปี่ยมแล้วละ ถ้ายังไม่แน่ใจก็โมทนาอีกครั้งก็ได้
| |
ในระหว่างนี้ ท่านพระครูปลัดอนันต์เดินทางมาถึงแล้ว พร้อมทั้งหลวงพี่ชัยวัฒน์ และ ดร.ปริญญา จึงได้เล่าประวัติความเป็นมาโดยย่อ
ต่อจากนั้นก็เริ่มทำพิธีบวงสรวงกัน โดยมีพระภิกษุจากต่างวัดและญาติโยมพุทธบริษัทมาร่วมพิธีกันมากมาย
ต่างก็นั่งเบียดเสียดล้อมรอบองค์พระธาตุเต็มไปหมดทุกด้าน จนล้นออกไปทางลงบันได
| |
แต่ทุกคนก็ไม่บ่น ไม่ย่อท้อ ไม่งอแง ไม่สนใจความหนาวเย็น แต่ละคนก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน บางคนก็ยังโงกง่วง เพราะต้องเดินทางมาทั้งคืน
บางคณะก็มาไกลจากสุราษฎร์ธานีและภูเก็ต (ถ้าใครสังเกตให้ดี ระหว่างนั่งรถจะมาที่พระธาตุจอมกิตติ จะเห็นมีร่องรอยฝนตกอยู่ตามถนน
เมื่อคืนนี้ฝนคงจะตกลงมาก่อนงาน นับว่าเป็นสิริมงคลเป็นอย่างยิ่ง)
| |
เรื่องนี้ทำให้นึกย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา ตอนที่ไปงานพิธียกฉัตรพระเจดีย์งค์เล็ก (เจดีย์บริวารรอบองค์พระธาตุจอมกิตติ) เมื่อปี 2545
ในปีนั้นคงจะจำกันได้ว่า ในวันก่อนงานฝนได้ตกลงมาและลมพายุพัดใหญ่ ทำให้เสาไฟฟ้าข้างถนนไปเชียงแสนได้ล้มลงมาสิบกว่าต้น
| |
ในตอนนี้ หลังจากคณะผู้ร่วมเดินทางมาครบแล้ว ท่านพระครูปลัดอนันต์จึงได้ไปทำพิธบวงสรวงที่โต๊ะบายศรีชุดใหญ่ ด้านหน้าองค์พระธาตุ ส่วน หลวงพี่โอ
เดินไปจุดธูปเทียนที่พระเจดีย์องค์เล็ก มุมด้านทิศเหนือ พระชัยวัฒน์ด้านทิศตะวันออก หลวงพี่อาจินต์ด้านทิศใต้ หลวงพี่สมพงษ์ด้านทิศตะวันตก
| |
ในท่ามกลางบรรยากาศตอนสาย อากาศยังคลึ้มเย็นสบาย ทุกคนนั่งยกมือหลับตาไปตามกระแสเสียงชุมนุมเทวดาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ จบแล้วก็เป็นเสียงสวด
"ภุมมานัง" แบบล้านนา ทำให้หวลนึกถึงอดีตที่ผ่านไปไม่นาน แค่ 30 กว่าปีมานี้เอง หลวงปู่ทั้งหลายอันมี หลวงปู่ชุ่ม หลวงปุ่ธรรมไชย หลวงปู่ชัยวงศ์
เป็นต้น ที่เคยมาร่วมทำพิธียกฉัตร พระเจดีย์จำลององค์เล็ก (ทางด้านทิศใต้) เมื่อปี 2518 เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ประเทศชาติมาแล้ว
| |
หลังจากทำพิธีบวงสรวงเสร็จสิ้นแล้ว คณะเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลเชียงแสน จำนวน 12 คน ต่างก็ออกมาร่ายรำถวายมือ ชุด "ระบำเชียงแสน"
จากนั้นก็เข้ามารับรางวัลจาก คุณเยาวลักษณ์ (ขวัญ) และจากท่านพระครูปลัดอนันต์ เนื่องจากวันนี้ตรงกับ "วันเด็ก" พอดี
| |
ในปีนี้มีการทำพิธีเป็นกรณีพิเศษ คือ ท่านพระครูปลัดอนันต์ได้เป็นประธานในการนำแห่ผ้าไสบทองไปรอบๆ องค์พระธาตุ โดยมี หลวงพี่โอ
หลวงพี่อาจินต์เดินถือผ้านำหน้า และญาติโยมทั้งหลายแห่ไปจนครบ 3 รอบ ที่เขาเรียกกันว่าพิธี "แห่ผ้าขึ้นธาตุ" นั่นเอง ตามที่นิยมทำกัน ณ
พระธาตุนครศรีธรรมราช
| |
ขณะนั้นทุกคนเดินแห่ผ้าเป็นขบวนยาวเหยียด บางคนก็นั่งสวดอิติปิโส เสียงดังก้องทั่วบริเวณนั้น ท่านพระครูปลัดอนันต์สวดนำไปตลอดเวลา โดยก่อนหน้านั้น
คณะพิษณุโลก มี อ.วิบูลย์ มีชู ได้กล่าวคำกลอนสดุดี เนื่องในงานพิธีฉลองยอดฉัตรในครั้งนี้ด้วย
| |
แต่ละคนอิ่มเอมเปรมใจ ยินดีที่ได้มีโอกาสมาร่วมฉลอง เพราะองค์พระธาตุมีการซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว เดิมองค์พระธาตุจะเอนเอียงมาทางซ้ายมือของเรา
แต่ทางกรมศิลปากรได้อนุมัติซ่อม โดยกรรมวิธีสมัยใหม่อัดพื้นให้แน่นขึ้น จนองค์พระธาตุเอียงกลับมาเล็กน้อย หลังจากนั้นแผ่นดินก็ไหวขึ้นพอดี
ทำให้องค์พระธาตุไม่เสียหายเลย
| |
ฉะนั้น ปีนี้นับเป็นปีที่ 17 หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ มรณภาพไปแล้ว พวกเราก็ได้ไปทำนุบำรุงและกราบไหว้องค์พระธาตุของท่านตลอดมา
เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมย์และสืบสานประเพณีอันดีงามตลอดไป
| |
อีกทั้งในยามนี้ บ้านเมืองก็เกิดมีปัญหาภายในประเทศอย่างรุนแรง พวกเราชาวไทยจึงตั้งใจอธิษฐาน เพื่อขอพรจากบรรพบุรุษไทยในอดีตทั้งหลาย ขอให้ไทยจงเป็นไทย
อย่าได้ตกเป็นทาสแห่งอำนาจ ด้วยการแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง จนเศรษฐกิจพังพินาศไปหมดสิ้น
| |
ขอบุญบารมีขององค์สมเด็จพระชินศรี และบารมีพระเจ้าพรหมมหาราชได้โปรดคุ้มเกล้าชาวไทย ให้พ้นจากทุพภิกขภัยและอุบัติภัย
ตลอดถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติทั้งหลาย ขอให้ปลอดภัยและมั่งมีศรีสุขตลอดกาลนานเทอญ
| |
งานพิธีฉลองยอดฉัตรครั้งนี้ ได้มาถึงตอนสำคัญอยู่ตอนหนึ่ง คือได้มีการกล่าวคำถวายเครื่องสักการบูชา อันมี บายศรีดอกไม้ และผ้าห่มสไบทอง เป็นต้น
หลังจากนั้นตัวแทนคณะสงฆ์ อันมี หลวงพี่โอ หลวงพี่อาจินต์ เป็นต้น ได้เข้าไปสรงน้ำและโปรยดอกไม้รอบองค์พระธาตุ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เพลงมหาฤกษ์บรรเพลง
พร้อมกับมีเสียงประทัดแทนเสียงพลุดังขึ้นพร้อมๆ กัน
| |
ในงานพิธีครั้งนี้ ได้มีการนั่งสมาธิเงียบสงบประมาณ 10 นาทีอีกด้วย หลังจากนั้นท่านพระครูปลัดอนันต์กล่าวสัมโมทนียกถา
จบด้วยการอุทิศส่วนกุศลผลบุญทั้งหลาย แล้วมีการประกาศว่า ในเวลาเที่ยงตรงจะมีการเดินทางต่อไปที่ วัดพระเจ้าหลวงสวนดอก (เลยวัดพระธาตุผาเงา ประมาณ 20
ก.ม.) โดยมี อ.นคร จากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม เป็นผู้ประสานงาน ได้แจ้งว่ามีการก่อสร้างวิหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พวกเราโดยการนำของพระครูปลัดอนันต์, หลวงพี่โอ, หลวงพี่ชัยวัฒน์, หลวงพี่อาจินต์ พร้อมคณะศิษย์มากมายหลายร้อยคน ได้ร่วมทำบุญจำนวนเงิน 158,000 บาทเศษ
เพื่อต่อเติมเพดานที่องค์พระพุทธรูปต่อไป หลังจากที่การบูรณะเมื่อ 3 - 4 ที่แล้ว บัดนี้คงจะแล้วเสร็จอย่างแน่นอน สิ้นทุนทรัพย์ทั้งองค์พระและวิหารไปประมาณ
2 ล้านบาทเศษ
| |
ต่อจากนั้นก็อัญเชิญผ้าไปห่มรอบองค์พระเจดีย์ โดยมีคณะต่างๆ ที่นำผ้ามาถวายสิบกว่าม้วนเข้าไปห่มด้วย พร้อมทั้งพวงมาลัยดาวเรือง ในตอนนี้มีจังหวะว่าง
คุณเศรษฐา (จะเลงกะโบ) จึงได้ประกาศให้เด็กๆ ที่มาในงานนี้เข้าไปรับของขวัญจากท่านพระครูปลัดอนันต์ทันที
| |
หลังจากนั้นเป็นการลุกขึ้นยืนไว้อาลัยแก่นักรบที่กู้ชาติจากขอมในสมัยนั้น แล้วร่วมกันร้องเพลง "ต้นตระกูลไทย" เพื่อเป็นการสดุดีพระเจ้าพรหมมหาราช
ในฐานะที่พระองค์เป็นประมุขของบรรพบุรุษไทย โดยการสืบสันตติวงศ์มาจนถึงราชวงศ์ในปัจจุบันนี้ อีกทั้งร้องเพลง "เดินตามพ่อ" ต่อไปด้วย
เป็นการนึกถึงพ่อที่มีคุณต่อลูกทั้งหลาย
| |
มีหลายคนที่ได้ฟังเพลงนี้แล้ว ต้องน้ำตาคลอ บ้างก็เช็ดน้ำตาที่ไหลรินออกมา ด้วยความรำลึกถึงวีรกรรมสมัยนั้น
ที่พวกเราคนไทยต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในสนามรบ โดยเฉพาะพระมเหสีของพระเจ้าพรหมมหาราช ต้องถูกพวกขอมดักทำร้ายที่หน้าประตูเมืองจนเสียชีวิต
หลังจากนั้นต่างก็ได้มาร่วมสร้าง "อนุเสารีย์ชัยสมรภูมิ" คือองค์พระธาตุจอมกิตตินี้ โดยการบรรจุพระบรมธาตุส่วนหน้าผากที่ พระพุทธโฆษาจารย์
อัญเชิญมาจากประเทศลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 900 เศษ
ในคราวครั้งนั้น ผู้ที่รอดชีวิตต่างก็มาร่วมฉลองชัยกัน ณ สถานที่นี้ แต่ต้องอนาถและแสนเศร้า... เมื่อย้อนระลึกถึงเพื่อนร่วมชาติ
ที่เคยต่อสู้กับอริราชศัตรูอย่างเคียงบ่าเคียงใหล่กันมา โดยการรุกไล่พวกขอมลงไปถึงกำแพงเพชร ครั้นเสร็จศึกกลับมาแล้ว บางคนก็บาดเจ็บแสนสาหัส
บางคนก็ต้องพิการไปตลอดชีวิต แต่น่าอนิจจา..บางคนก็ต้องหามศพที่หมดสิ้นลมปราณกลับมา
การศึกครั้งนั้น แม้พวกขอมจะสูญสิ้น แต่พวกเราก็ดับดิ้นไปไม่น้อยเหมือนกัน การฉลองชัย ณ องค์พระธาตุจอมกิตติครานั้น
ถึงแม้เราจะกำชัยชนะไว้อย่างสิ้นเชิง แต่พวกเราก็สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ผัวต้องจากเมีย ลูกต้องจากพ่อแม่ โดยเฉพาะ "ท่านแม่"
อันเป็นที่รักของพวกเราทั้งหลาย ที่จะต้องฉลองชัยกันไปพร้อมทั้งคราบน้ำตา..ด้วยประการฉะนี้ ฯ
((( โปรดติดตาม พิธีบวงสรวง ณ พระธาตุดอยตุง ต่อไป คลิกที่นี่)
หมายเหตุ
ถ้าต้องการย้อนชมภาพเหตุการณ์ในอดีต "งานพิธียกฉัตร เมื่อปี 2518" กรุณา Login ข้างนอกก่อน แล้วจึงกลับเข้าอ่านข้อมูล
ซึ่งจะต้องขออภัยที่จะขอสงวนสิทธิ์ในการคัดลอกข้อมูล, ภาพ, เสียง ออกไปนอกเว็บ หากตกลงก็คลิกที่นี่
|