Not logged in [Login - Register]
Go To Bottom
Printable Version | Subscribe | Add to Favourites ตั้งหัวข้อใหม่
[*] posted on 28/4/08 at 09:45 [ QUOTE ]

บทวิเคราะห์ "พระเจ้าตากสิน" สวรรคตเพราะเหตุใด? (ตอนที่ 4)






บทความจาก

www.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/tour/watkaokoonphanom.htm


ผมรีบเอารายละเอียดของศูนย์วิทยาศาตร์เพื่อการศึกษา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในวัดเขาขุนพนม มาบอกเล่าเสียก่อน เดี๋ยวลืมบอก เพราะความตั้งใจ ที่จะเขียนเล่าเรื่องของเขาขุนพนมในวันนี้ เกิดจากความเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มิได้ถูกประหารชีวิต ตามที่เขียนไว้ในประวัติศาตร์ ที่เขียนให้เรียนกัน

เพราะทหารนั้นมีความจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาสูงนัก ย่อมไม่สั่งประหารชีวิตอดีตผู้บังคับบัญชากันง่าย ๆ น่าจะมีหนทางออกให้ และผมก็เขียนได้แค่นี้ไม่ขอวิเคราะห์วิจารณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เดี๋ยวจะโดนว่าเป็นนักแก้ประวัติศาสตร์ เหมือนเมื่อคราวที่ผมไม่เชื่อว่าป้ายที่ปักไว้ที่ข้างกำแพงเมือง "ฝาง" เชียงใหม่ บอกว่า อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมาตีได้ฝาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๐

ผมไม่เชื่อเพราะวันที่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่า ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๘ นั้น อีตาอะแซหวุ่นกี้แกอายุ ๗๒ ปี ไปอ่านพงศาวดารเล่มไหนก็จะตรงกันว่าอายุ ๗๒ ปี ดังนั้น พ.ศ.๒๓๓๐ แกต้องอายุ ๘๔ ปี คนอายุ ๘๔ ปี

อย่าแต่เมื่อ ๒๑๙ ปีที่แล้วเลย คนอายุ ๘๔ ปี วันนี้ที่มีแพทย์แผนปัจจุบันให้ขี่ม้า ถือทวนเดินทางจากอังวะ มาฝางระยะทางประมาณ ๓๐๐ กม. ผมว่ามาไม่ไหวต่อให้ตาอะแซหวุ่นกี้ ไม่ต้องขี่ม้า นอนแปล กอดทวนให้ทหารหามมา ก็เชื่อว่าคงตายเสียตั้งแต่กลางทาง และประวัติศาสตร์พม่าเองก็บอกเอาไว้อีกว่า

เมื่ออะแซหวุ่นกี้ ตีได้พิษณุโลกแล้ว ทางพม่าก็ผลัดแผ่นดินใหม่ กษัตริย์พม่าองค์ใหม่จึงเรียกกองทัพกลับ และปลดอะแซหวุ่นกี้จากตำแหน่งแม่ทัพ บางฉบับก็บอกว่าถูกประหารชีวิตด้วยซ้ำไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่อีก ๑๒ ปี ต่อมาอะแซหวุ่นกี้จะนำทัพมาตีเมืองฝาง ซึ่งเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ และหากหาอ่านให้ละเอียดจะพบว่า แม่ทัพพม่าทัพเล็ก ๆ มีกำลังพลเพียงห้าพันคน ยกมาตีฝางปี พ.ศ.๒๓๓๐ แล้วให้ยั้งทัพทำไร่ ไถนา เตรียมเสบียงเพื่อทัพใหญ่ จะยกตามมาในภายหลัง

ผมไปวิเคราะห์อย่างนี้โดนท่านผู้อ่านท่านเดียว โกรธผมถึงขนาดเขียนจดหมายขึ้นต้นด่าผมว่า "อ้ายนักแก้ประวัติศาสตร์" ดังนั้นเรื่องที่จะเล่าวันนี้ ผมไม่ขอวิเคราะห์อย่างใดทั้งสิ้น จะขอเล่าตามที่ได้อ่านพบมา ขอเริ่มต้นดังนี้

มีท่านผู้อ่านที่ท่านบอกว่า ท่านเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผม ถ่ายเอกสารจากหนังสือฉบับหนึ่ง ตั้งแต่หน้า ๘๖ - ๙๔ ไม่มีชื่อหนังสือเป็นบทความ ที่ได้กล่าวถึงการเดินทางไปเมืองนครศรีธรมราช และได้ไปติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยการรวมจิตเข้าเป็นสมาธิ ติดต่อผ่านร่างทรง

แต่เป็นการติดต่อในเหตุการณ์ปัจจุบัน มิได้กล่าวถึงเรื่องในอดีตเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ และในบทความได้กล่าวไว้ว่า "ขอยกแนวความคิดของ ฯ พณ ฯ นายพลตรี หลวงวิตรวาทการ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งยังมีปมปริศนาค้างคาอยู่ในใจของผู้คนส่วนใหญ่ว่า พระองค์ท่านสวรรคตจริง ๆ หรือ ที่ไหน เมื่อไร" และได้เล่าต่อไปว่า

หลวงวิจิตรวาทการ แต่งเป็นนิยายระทึกใจเรื่อง "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี" โดยนิมิตว่า มีชายไทยโบราณร่างมหึมา มาจับมือข้าพเจ้า (หลวงวิตร) เขียนเรื่องราวขึ้น เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชล้วน ๆ ยาวเหยียดหลายสิบหน้า เป็นลายมือของข้าพเจ้าเอง แต่ความรู้สึกที่เขียนลงไปไม่ใช่ของข้าพเจ้าเลย โดยเล่าว่า

"สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้สิ้นพระชนม์ตามคำสั่งของรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ตามที่เราเคยเชื่อถือกันในประวัติศาสตร์ แต่ได้มีคนกลุ่มหนึ่งได้ช่วยท่านไว้แล้วพาไปซ่อนไว้ที่อื่น ช่วยไว้เกือบ ๓ ปี จึงได้สิ้นพระชนม์ลง ณ จ.เพชรบุรี ส่วนคนที่ถูกประหารที่ป้อมวิชียประสิทธิ์นั้น เป็นคนอื่นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี "

วรรณกรรมของคุณหลวงวิจิตรวาทการนั้น เท่าที่มีการพิมพ์ออกจำหน่ายผมว่าผมได้ซื้อเอาไว้ทุกเล่ม พอลงไปค้นในห้องสมุดก็พบว่า อยู่ในชุดรวมเรื่องสั้นซึ่งมีหลายชุด แต่ละชุดจะมี ๕ - ๖ เรื่อง เล่มนี้ผมซื้อเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ผมอ่านแล้วไม่ต่ำกว่า ๒ ครั้ง หยิบเอามาอ่านอีกชนิดรวดเดียวจบ

ผมจะขอยกข้อความตอนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้ ซึ้งได้เฉลยปริศนาทั้งหมดให้ท่านทราบ เพราะหากท่านทราบแล้ว จึงจะไปเที่ยววัดเขาขุนพนมได้สนุกและมีความหมาย ส่วนเรื่องจะจริงหรือไม่ ท่านต้องวิเคราะห์ดูเอง ผมจะไม่วิเคราะห์วิจารณ์ให้ท่าน ต้องไปเที่ยววัดเขาขุนพนม และจะได้ไปเที่ยวพระตำหนักเมืองนครด้วย อยู่ไม่ไกลกัน

เบื้องหลังเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่คุณหลวงวิจิตรวาทการท่านเขียนฝากไว้ในโลกวรรณกรรมเมืองไทย ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๔ ซึ่งเป็นวันที่ระลึก "ตากสินมหาราชานุสรณ์" จะขอเพิ่มเติมว่าหลังจากที่ผมตั้งใจจะเขียนเล่าถึงการที่ผมไปวัดเขาขุนพนม ซึ่งเป็นการไปเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว

ครั้งแรกไปตั้งแต่ยังรับราชการอยู่ที่เมืองนคร ฯ ครั้งหลังตอนเขียนหนังสืออร่อยทั่วไทยไปกับ ปตท. เมื่อสัก ๓ - ๔ ปี มานี้เอง พอไปครั้งที่ ๓ ซึ่งไปตัดสินการประกวดการทำอาหาร มือทอง จูเนียร์ของวิทยาลัยอาชีวศึกษา จบการตัดสินแล้ว ผมก็ไปเที่ยวพระตำหนักเมืองนคร และไปวัดเขาขุนพนม

กลับมาไปเดินร้านหนังสือพบหนังสือเข้าเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน ? โดย ภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ หนังสือเล่มนี้เล่มโตขนาด ๓๒๗ หน้า และมีภาคผนวก พระพุทธศาสนาสมัยกรุงธนบุรี เขียนละเอียดมาก พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ และพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ ราคาเล่มละ ๑๗๐ บาท

แตกต่างกับเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ผู้อาสาไปตายแทนไม่ใช่หลวงอาสาศึก แต่เป็นนายมั่ง หรือคุณมั่น เป็นพระญาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่เป็นพระญาติห่าง ๆ คุณมั่นไม่ได้เป็นทหาร ช่วยบิดาค้าขายแต่อาสาไปตายแทน

ส่วนการเข้าไปสับเปลี่ยนตัวนั้นไม่ได้เล่าละเอียดเหมือนที่ คุณหลวงวิจิตรท่านเขียนเป็นนิยาย "คุณมั่น ยอมตายถวายชีวิต มิใช่เพื่อความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระเจ้าตากเท่านั้น แต่เป็นความกตัญญูกตเวทีต่อเมืองแม่ ของลูกจีนหลานจีนทั้งหลายที่เกิดในเมืองไทย และมีความรักเมืองไทยอันเป็นเมืองแม่ ของตนด้วย.......

เพราะฉะนั้นคนจีนในเมืองไทย หรือลูกหลานจีนทุกคนจึงควรรักเมืองไทย ให้เสมอเหมือนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช คุณมั่น และทหารจีนทั้งหลายที่ได้เคยช่วยเหลือเมืองไทยมาแล้ว ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

แต่ตอนสิ้นพระชนม์นั้น ภิกษุณี วรมัย ได้ยกข้อเขียนของนายมาร์แวล นักเขียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้เขียนสันนิษฐานไว้ว่า "พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มาสิ้นพระชนม์ ที่นครศรีธรรมราช และบรรจุพระอัฐิรวมกับอัฐิพระยานคร (น้อย)"





[ PROFILE ] [ FIND ] [ U2U ]
ตั้งหัวข้อใหม่

Go To Top