บทวิเคราะห์ "พระเจ้าตากสิน" สวรรคตเพราะเหตุใด? (ตอนที่ 6)
ความคลางแคลง ปลายแผ่นดิน "พระเจ้ากรุงธนบุรี"
โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com
1.สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศอยู่เพียง 14-15 ปี
หากคำถามเกี่ยวกับแผ่นดินของพระองค์กลับมีไม่น้อย ขณะที่คำตอบกลับมีไม่มาก และไม่ชัดเจนพอที่จะทำให้สิ้นสงสัย
คำตอบที่บอกว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถูกสำเร็จโทษ เนื่องจากมีพระสติฟั่นเฟือน" กลับกลายเป็นคำถาม เพราะผู้รับฟังจะพูดต่อประโยคข้างต้นว่า
"จริงหรือ?" แล้วคำตอบที่คลุมเครือจึงสร้าง "ความคลางแคลง" ให้เกิดขึ้นในที่สุด
ซึ่งในทุกวงสนทนาเรื่องกึ่งปิด-กึ่งเปิด กึ่งจริง-กึ่งเท็จ นั้นเหมือนของหวานที่เชื้อเชิญให้ผู้คนมาลิ้มลอง
หากความคลางแคลงปลายแผ่นดินสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งคงไม่พ้นเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระองค์
เป็นการเสด็จสวรรคตที่สร้างความฉงนสงสัยให้ประวัติศาสตร์ของชาติได้ไม่น้อย
และทำให้เกิดประวัติภาคประชาชน เกิดพงศาวดารกระซิบ ต่อยอดความสงสัยให้ยาวไกลออกไปอีก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแก้ปัญหา "เงินกู้" จากราชสำนักจีนมาสร้างกรุงธนบุรีที่กลายเป็น NPL (Non Profit Loan)
ด้วยการสละแผ่นดินให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก โดยพระองค์ทรงหลบหนีไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช
หรือที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทำศึกสงครามมากจนพระสติวิปลาสในปลายรัชกาล ฯลฯ
2.นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ตามติดกับเรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอเป็นระยะ และในฉบับเดือนตุลาคมนี้
นำเสนอบทความเกี่ยวกับพระองค์ท่านถึง 3 เรื่องด้วยกัน คือ
"สมเด็จพระเจ้าตากสิน ผู้ดีกรุงเก่า ลูกเจ้า หรือลูกจีน?" โดย ปเรตร์ อรรถวิภัชน์ ""พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทร์" ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน
ประวัติศาสตร์แห่งจินตนิยาย" โดย รังสรรค์ นิลฉ่ำ และ "พระเจ้าตากกับพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพฯ ตอนต้น" โดย ปรามินทร์ เครือทอง
หากมุมมองในการนำเสนอครั้งนี้ของผู้เขียนทั้ง 3 คน ชวนให้ขบคิดอย่างยิ่ง ปเรตร์ หยิบหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ
จดหมายเหตุประถมวงศกุลบุนนาค และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มาอธิบายถึงพระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ว่ามีการนำเสนอแตกต่างกันระหว่างความเป็นลูกผู้ดีกรุงเก่า อดีตขุนนางแห่งกรุงศรีอยุธยา กับชาวบ้านธรรมดา ไปจนถึงความเป็นลูกจีนแต้จิ๋ว ฯลฯ
ทั้งหมดเพื่อให้เรื่องของพระองค์สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา
รังสรรค์ วิเคราะห์ หนังสือชุด "บันทึกแผ่นดิน" ของโรม บุนนาค ที่กล่าวว่า "พระเจ้าตากสินล่องหน หลบท่อนจันทน์"
โดยพระองค์ทรงหลบมาจำศีลที่วัดเขาขุนพรหม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่เป็นคำบอกเล่าของสมจิตร ทองสมัคร-ผู้ดูแลพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สรุปได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชประสงค์มอบราชสมบัติให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
และทรงแสร้งเป็นคนวิกลจริตเพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้สินที่ทรงกู้ยืมจากเมืองจีน
ก่อนจะทิ้งท้ายคำถามว่า หากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรู้กับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจริง เหตุใดพระองค์ต้องทรงลงทุนด้วยชีวิตลูกหลานถึง 4 พระองค์
(กรมขุนอินทรพิทักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย กรมขุนอนุรักษ์สงคราม และกรมขุนรามภูเบศร์)
ส่วน ปรามินทร์ กล่าวถึง หนังสือสังคีติยวงศ์ ของ สมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เทศนาจุลยุทธการวงศ์
จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ในรัชกาลที่ 4 และพงศาวดารสยามอย่างย่อ (Brief History of Siam) ที่มีการตีพิมพ์ 2
ครั้ง คือ ครั้งแรกใน The Chinese Repository และตีพิมพ์ซ้ำใน The Kingdom and People of Siam
3. แม้เอกสารที่อ้างอิงจะมีหลายแหล่งที่มา หากทางของข้อมูลกลับเป็นไปในทางเดียวกัน คือ ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น
เป็นช่วงวิกฤตของบ้านเมือง พระเจ้าแผ่นดินทรงเสียพระจริต สติฟั่นเฟือน มหาชนโกรธแค้น ข้าราชการหมดสิ้นศรัทธา และโอนเอียงไปข้างเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ฯลฯ
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ปลายแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้น มีวัตถุประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างๆ ระหว่าง "ชิงราชบัลลังก์"
กับ "ปราบยุคเข็ญ"
และเอกสารชิ้นสุดท้ายที่กล่าวถึง คือ หนังสือ The English Governess at the Siamese Court ของ แอนนา
เลียวโนเวนส์-อดีตครูฝรั่งในราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวถึงเหตุการณ์ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้อย่างน่าตกใจด้วยคำว่า "วางยา" และ
"ผู้ทรยศ"
โดยที่มาของข้อมูลนั้นมาจากหนังสือเล่มเรื่องกรุงสยาม หรือ Description du Royaume Thai ou Saim
โดยสังฆราชปาลเลกัวซ์-พระสหายคนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เอกสารที่ผู้เขียนทั้ง 3 คนอ้างอิง เป็นถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเอกสารเก่าที่นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ในมิติใหม่เป็นระยะๆ
ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งเป็นเอกสารเก่าที่เพิ่งมีการนำเสนอในสถานะของ "ข้อมูลใหม่"
เอกสารที่เกี่ยวกับพระองค์และเหตุการณ์ในช่วงปลายแผ่นดินกรุงธนบุรีมีมากเพียงใด ทั้งเอกสารที่มีอยู่แล้วหากยังไม่ได้กล่าวถึง เอกสารที่กำลังผลิตขึ้นใหม่
ทว่านั้นยังไม่น่าสนใจเท่ากับว่ามีทำไมจึงต้องมีเอกสารเหล่านั้นขึ้นมา?
นั้นคงเป็นเพราะว่าคำตอบที่แจ้งต่อสาธารณะมากว่า 200 ปี ยังคงมีความสงสัยพ่วงท้ายเช่นนี้เรื่องราวปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงไม่เคยถึงตอนจบ
เพราะคำถามและคำตอบยังทับซ้อนกันอยู่บนพื้นที่เดียวกัน
พื้นที่ของความคลางแคลง ซึ่งรอให้เวลาช่วยคลี่คลาย
วันที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11168
ที่มา - www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=8174 และ
www.junjaowka.com/webboard/showthread.php?t=49349
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
มติชนฉบับวันที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10618
ความลับ!?! แผนยึดกรุงธนฯ
โดย วิภา จิรภาไพศาล
สำหรับ "ความลับ" มีความเชื่ออยู่ 2 กระแสด้วยกัน คือ มีความลับ กับไม่มีความลับ
ในฝ่ายที่เชื่อว่าไม่มีความลับนั้น มักหยิบยกคำพูดหนึ่งที่ได้ยินกันเสมอๆ มาอ้างอิงว่า "ความลับไม่มีในโลก"
ด้วยคาดว่าสักวันหนึ่งความลับก็ต้องเปิดเผย เมื่อเจ้าของความลับหรือผู้มีส่วนได้เสียกับความลับนั้นหมดอิทธิพลลง
ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่ามีความลับนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่า คำว่า "ความลับไม่มีในโลก" เป็นคำพูดที่ไว้ขู่พวกขวัญอ่อนเท่านั้น
เพราะหลายครั้งที่บุคคลที่มีส่วนรู้เห็นความลับนั้น ก็กลายเป็นบุคคลสาบสูญไปจากสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความลับจึงเป็นความลับต่อไป
ซึ่งหากพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่าหลายๆ เหตุการณ์ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบให้สังคม
ดังเช่นเหตุการณ์การสิ้นสุดของราชธานีแห่งแรกของลุ่มเจ้าพระยาอย่าง "กรุงธนบุรี"
การรับรู้ทั่วไปที่ผ่านมาเกี่ยวกับการสิ้นสุดของกรุงธนบุรีและพระเจ้ากรุงธนบุรีพอสรุปได้ดังนี้
ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเกิดกบฏขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีรับสั่งให้พระยาสรรค์ขึ้นไปสืบสวนเอาตัวคนผิดมาลงโทษ
แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้ากับพวกกบฏ และยกพวกมาปล้นพระราชวังที่กรุงธนบุรีในเดือนมีนาคม พ.ศ.2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชออกผนวช
และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพระยาสรรค์ได้ตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งไปราชการทัพเมืองกัมพูชา เมื่อทราบข่าวการจลาจลในกรุงธนบุรี จึงรีบยกทัพกลับ
เพื่อสืบสวนเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และจับกุมผู้ก่อการกบฏมาลงโทษ
รวมทั้งให้ข้าราชการปรึกษาพิจารณาความที่มีผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นต้นเหตุ เนื่องจากพระองค์ทรงเสียพระสติ
เพื่อมิให้เกิดปัญหายุ่งยากอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2325 พระชนมพรรษาได้ 48 พรรษา
คำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ และยังเป็นความลับของสังคมคือ พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินนั้นทรงเสียพระสติจริงหรือไม่?
เพราะนั่นเป็นประเด็นสำคัญในคำกล่าวโทษพระองค์ และนำไปสู่การสำเร็จโทษพระองค์ ใครเป็นผู้วางแผนยึดและใครเป็นผู้ยึดกรุงธนบุรี? ฯลฯ
ทุกอย่างเป็นความลับมากว่า 200 ปี ถ้าเชื่อว่าความลับมีในโลก เพราะบุคคลผู้อยู่ในเหตุการณ์ล้วนเสียชีวิตไปแล้วทั้งสิ้น
แต่ถ้าเชื่อว่าความลับไม่มีในโลกแล้ว แม้ไม่มีพยานบุคคล ก็ยังมีพยานหลักฐานข้างเคียง และด้วยกระบวนการทางกฎหมาย นิติวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ
หลายครั้งความลับนั้นก็เปิดเผย
ซึ่งนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนเมษายน ปรามินทร์ เครือทอง เลือกใช้หลักฐานการบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คลี่คลายเรื่องนี้ของกรุงธนบุรี
ในอีกแง่มุมที่แตกต่างออกไป
"ต้นเรื่องของแผนยึดกรุงธนบุรีกำเนิดที่กรุงกัมพูชา เกิดเหตุรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระรามราชา (นักองค์นน) กษัตริย์กัมพูชา
ซึ่งพระเจ้าตากได้ทรงตั้งไว้เมื่อสงครามคราวก่อน หัวหน้าผู้ก่อการคือเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) จับสมเด็จพระรามราชาสำเร็จโทษในเดือน 10 ปีกุน ศักราช 1141
(พ.ศ.2322) ต่อมาก็ถวายราชสมบัติให้นักองค์เอง ราชบุตรของนักองค์ตน ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่มาก
เจ้าฟ้าทะละหะจึงเป็นผู้สำเร็จราชการว่าที่เจ้าฟ้ามหาอุปราช...
กัมพูชาขณะนั้นยังอยู่ในอำนาจของกรุงธนบุรี แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ฝ่ายกรุงธนบุรีเองก็ไม่ไว้วางใจอีกต่อไป
เพราะเจ้าฟ้าทะละหะนั้นมีใจฝักใฝ่ข้างญวน เช่นเดียวกับนักองค์เอง ถ้าเติบใหญ่ขึ้นก็จะฝักใฝ่ญวนเหมือนกับนักองค์ตนพระราชบิดา
ทำให้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของกรุงธนบุรีได้
นี่คือสาเหตุที่กรุงธนบุรีต้องยกทัพใหญ่ไปปราบกัมพูชา และเป็นตัวแปรสำคัญต่อการยึดกรุงธนบุรีและทำรัฐประหารพระเจ้าตากในเวลาต่อมา..."
หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคำกล่าวโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าทรงเสียพระสติ ก็มีข้อมูลนำเสนอน่าสนใจ ทั้งในเรื่องดังกล่าว
และการข่าวภายในราชสำนักกรุงธนบุรีของเจ้าพระยาจักรีว่า
"ความทรงจำในเรื่องนี้ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่คลาดเคลื่อนแน่ การที่เจ้าพระยาจักรีรู้ข่าว "วิปริต" ในกรุงธนบุรี ตั้งแต่เดือน 11
หรือเดือน 12 ปีชวด ซึ่งจะหมายถึงเจ้าพระยาจักรีรับข่าวนี้ตั้งแต่อยู่นครราชสีมา "ก่อน" ที่จะเดินทัพไปกัมพูชา 2-3 เดือน...
อันที่จริงข่าว "วิปริต" นั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นระยะบ้างแล้ว จดหมายเหตุโหรกล่าวถึงพระเจ้าตากทรงขัดแย้งกับคณะสงฆ์...มีเหตุเรื่อง
พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบันได้หรือไม่ ข้อหลังนี้เป็นข้อหาหนักถึงขั้นกล่าวว่าพระเจ้าตากทรงมี "พระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส"
ไม่เพียงแต่ความขัดแย้งกับคณะสงฆ์เท่านั้น ข้างฝ่ายราษฎรก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ทั้งเรื่องพระเจ้าแผ่นดินทรงพิพากษากลับเอาจริงเป็นเท็จ
ทั้งเรื่องเร่งรัดเอาทรัพย์เป็นของหลวง
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงธนบุรีจะเกิดขึ้นเพราะใครหรือเพราะอะไร นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเจ้าพระยาจักรีจะเดินทัพสู่กัมพูชาทั้งสิ้น
จึงประมาณการได้ว่า พระยาสุริยอภัย (หลานพระยาจักรี) ได้ตระเตรียมไพร่พลไทย-ลาว อาจจะตั้งแต่ปลายปีชวด ไม่เกินต้นปีฉลู เตรียม "ยกรบ"
ควบคุมความไม่สงบในกรุงธนบุรีอยู่แล้ว ตามคำสั่งเจ้าพระยาจักรี
และที่สำคัญที่สุดคือ มีการเตรียมทัพยึดกรุงธนบุรีก่อนที่ "กบฏพระยาสรรค์" ความไม่สงบตัวจริงจะเกิดขึ้นเสียอีก!...
พระราชดำรัสสุดท้าย (ของพระเจ้ากรุงธนบุรี) ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชามีไว้ให้ชวนคิดดังนี้
"กูวิตกแต่ศัตรูมาแต่ประเทศเมืองไกล แต่เดี๋ยวนี้ไซ้ลูกหลานของกูเอง ว่ากูคิดผิดเปนบ้าเปนบอแล้วดังนี้ จะให้พ่อบวชก็ดี ฤาจะใส่ตรวนพ่อก็ดี
พ่อจะยอมรับทำตามใจลูกบังคับทั้งสิ้น"
พระราชดำรัสนี้ชี้ให้เห็นว่า ทรงรู้อยู่ตลอดเวลาที่ถูกหาว่า "บ้า" "
สุดท้ายพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสียกรุงให้กับขุนนางในแผ่นดินของพระองค์เองถึง 2 ครั้งด้วยกัน
โดยการเสียกรุงครั้งที่ 1 ให้แก่กำลังพลของพระยาสรรค์ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2324 และเสียต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้แก่ทัพของเจ้าพระยาจักรีในวันที่ 2
เมษายน พ.ศ.2325 (นับอย่างปฏิทินเก่าเดือนเมษายนนับเป็นขึ้นปีพุทธศักราชใหม่) อันเป็นการปิดฉากของกรุงธนบุรี และพระเจ้ากรุงธนบุรีลงอย่างถาวร
ภายในระยะเวลาเพียง 23 วัน ที่เจ้าพระยาจักรีมีชัยเหนือพระยาสรรค์ที่เข้ายึดกรุงธนบุรีก่อนหน้า คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
หากเป็นการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี
เจ้าพระยาจักรีสานสัมพันธไมตรีกับทัพญวนอย่างไร ไม่ให้มีการตีตลบหลังในระหว่างเข้ายึดกรุงธนบุรี ท่านปิดกั้นทัพพระเจ้าลูกเธอ
กรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ให้เป็นกำลังหนุนของกรุงธนบุรีอย่างไร การข่าวที่สายส่งรายงานเหตุการณ์ในพระนครไปยังทัพของท่านที่เสียมราฐ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นความลับที่ปิดตายไปพร้อมกับชีวิตบุคคลปิดลงอีกต่อไป เมื่อข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเปิดเผย ความลับย่อมไม่เป็นความลับอีกต่อ
หากความลับอื่นๆ ขอเชิญท่านตรวจสอบในศิลปวัฒนธรรมเถิด แล้วท่านจะทราบเองว่า
ความลับไม่มีในโลก หรือเป็นแค่คำขู่พวกขวัญอ่อน!!
ภาพประกอบข่าว ความลับ!?! แผนยึดกรุงธนฯ ทัพเจ้าพระยาจักรี กลับจากราชการทัพกัมพูชา (หนังสือจิตรกรรม
และประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2, 2536)
|